Sunday, February 12, 2012

อาสา @ ออนไลน์

กรุงเทพธุรกิจ 21 ธันวาคม 2553



มโนภาพของอัศวินขี่ม้าขาวของแต่ละคนคงแตกต่างกัน แต่ความคิดคงมาบรรจบตรงกันกับคำว่าต้อง "เหนือมนุษย์"

ทว่าความจริงแล้วอัศวินของสังคมอาจเป็นเราๆ ท่านๆ คนธรรมดา แต่เป็นคนธรรมดาที่สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ด้วยพลังของจิตที่เป็นอาสา
จิตอาสาบนโลกออนไลน์เป็นประเด็นที่พูดคุยในงาน "ตลาดนัดแห่งความสุขของการอาสาและการให้” เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บนเวทีเสวนา “อาสาสมัครในยุค Social Network” จากสมาชิกไซเบอร์ผู้มีบทบาทช่วยจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม นำโดย นพ.ณัฐกุล แย้มประเสริฐ หรือหมอแก๊บ เจ้าของทวิตเตอร์ @capitellum, ภาสกร แช่มประเสริฐ เจ้าของทวิตเตอร์ @paipibat(ภัยพิบัติ) และ รณพงศ์ คำนวณทิพย์ เจ้าของทวิตเตอร์ @rockdaworld ตัวแทนจากกลุ่ม ทวิตเตอร์ ฟอร์ ไทยแลนด์ (Twitter for Thailand) ท่ามกลางบรรยากาศแดดร่มลมตกที่สวนเบญจสิริ กรุงเทพมหานคร

นพ.ณัฐกุล แพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา เปิดวงด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าก่อนหน้านั้นสร้างทวิตเตอร์ให้เป็นเพียงพื้นที่พูดคุยเล่นติดต่อกันระหว่างเพื่อนในวงการแพทย์ ต่อมากลายเป็นกระดานแลกเปลี่ยนข้อซักถามความรู้กันในที่สุด เช่นเดียวกับภาสกรเจ้าของทวิตเตอร์ภัยพิบัติ ที่ไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งบล็อกที่เกิดขึ้นเพราะต้องการบันทึกสถิติของภัยธรรมชาติ ปัจจุบันจะกลายเป็นบล็อกเตือนภัยที่มีผู้ติดตามข่าวสารกว่า 5,800 คน
ด้านรณพงศ์ ตัวแทนจากกลุ่มทวิตเตอร์ ฟอร์ ไทยแลนด์ กลุ่มจิตอาสาไอทีรุ่นใหม่เล่าว่า เริ่มรวมกลุ่มเมื่อเดือนพฤษภาคม ทำหน้าที่เคลื่อนไหวสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อกลางในการรวมพลัง ล่าสุดคือเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้มีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในขณะที่สื่อกระแสหลักยังเข้าไปไม่ถึง และทวิตเตอร์ถูกใช้เป็นสื่อกลางเพื่อรับและส่งข่าวสาร
  • ทำดี คือ งานอดิเรก
ภาสกร มองว่าจิตอาสาควรทำเหมือนเป็นงานอดิเรก หรือจากเรื่องใกล้ๆ ตัว อย่างการสร้างทวิตเตอร์เพื่อกระจายข่าวสารก็เป็นผลพลอยได้มาจากความถนัดด้านคอมพิวเตอร์ ขับเคลื่อนเพราะความชอบ และปณิธานที่อยากทำประโยชน์ให้กับสังคม
"ลงแรงกับทวิตเตอร์ภัยพิบัติค่อนข้างมาก เริ่มทำตั้งแต่เช้าที่คนยังไม่ตื่น ผมเคยมานั่งคิดว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้วเราหลับอยู่ล่ะ คนที่ติดตามข่าวก็อาจพลาดได้ เลยตั้งระบบให้เกิดการส่งข่าวสารอัตโนมัติว่าต้องทวีตทุกกี่ชั่วโมง เพื่อไม่ให้คนที่ติดตามข่าวสารกับเราอยู่พลาดเหตุการณ์ที่สำคัญ"
ด้านนายแพทย์ณัฐกุล เล่าถึงเหตุการณ์น้ำท่วมกับบทบาทของการเป็นนักจิตอาสาบนโลกออนไลน์ว่า มีจุดแข็งอยู่ที่ "การแลกเปลี่ยนข้อมูล"
"เหตุการณ์น้ำท่วมโคราชที่ผ่านมา เราก็ส่งข่าว เล่าเหตุการณ์ที่เราพบลงในทวิตเตอร์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการตอบสนองจากเพื่อนๆ ในทวิตเตอร์เยอะมากที่เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูล พอเริ่มลงข้อมูลไป ก็มีคนในจังหวัดโคราชที่ประสบภัยเหมือนกันลงข้อมูลกลับมา เราก็ติดต่อไปที่ทวิตเตอร์ของนักข่าวด้วย ทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ติดต่อและเข้าถึงสื่อมวลชนได้ง่าย จึงเกิดความคิดที่ว่า ทวิตเตอร์ถึงแม้จะเข้าไปยังกลุ่มคนส่วนมากของประเทศไม่ได้ แต่ก็มีข้อดีตรงสามารถสื่อสารข่าวได้รวดเร็วกว่า และทำให้ข่าวสารวิ่งไปยังส่วนของภาครัฐได้เร็วมากยิ่งขึ้น" นายแพทย์ณัฐกุลกล่าว
รณพงศ์เสริมว่างานจิตอาสาไม่ใช่การบริจาคเงินเพื่อสร้างแต่เพียงอย่างเดียว ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของความตั้งใจที่จะทำในสิ่งที่ดีแม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยมีสโลแกนว่า 'ทำดี รู้สึกดี' พลังของโลกออนไลน์มีไม่จำกัดและไม่มีขอบเขตเป็นอุปสรรค์ขวางกั้น
  • อีกด้านของพลังไซเบอร์
ในเมื่อเหรียญมีสองด้าน พลังด้านลบที่มาจากการกระจายข่าวสารและข้อมูลเท็จจะป้องกันได้อย่างไร ทั้งสามคนให้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันในเรื่องการตรวจสอบข้อมูลให้แม่นยำจากหลายๆ ด้าน เพราะไม่ใช่แค่ทำหน้าที่กระจายข่าวสาร แต่ต้องให้ข่าวสารที่ถูกต้องด้วย เพื่อให้สังคมได้รับรู้ ไม่ใช่ตื่นตระหนก ตามแนวคิดที่ว่า "ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตูม"
"ผมคิดว่าแนวโน้มในอนาคต คนที่อยู่ในการสื่อสารอาจะไม่ใช่แค่นักข่าวแต่เพียงอย่างเดียว คนทั่วไปก็สามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้และเป็นได้อย่างตรงจุด แต่ละคนก็สามารถเผยแพร่ข่าวสารได้เช่นกัน" นายแพทย์ณัฐกุลมอง
รณพงศ์ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันนี้จิตอาสาบนสังคมออนไลน์กำลังเบ่งบาน อย่างกลุ่ม "บิ๊กทรีโปรเจกท์" (BIG Trees Project) ที่รวมตัวกันบนเฟซบุ๊คกว่า 3,000 คน คัดค้านการตัดต้นไม้ใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นว่าจิตอาสามีพลังและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ต้องรอบคอบต่อข่าวสารและข้อมูล อีกทั้งควรหาทางออกของปัญหา ให้ความรู้ และข้อมูลที่ถูกต้องควบคู่ไปด้วย
เหมือนที่ก่อนจะมาเป็นทวิตเตอร์ภัยพิบัติ ภาสกรเคยนำเสนอมุมสีขาวของสังคม แต่ผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์สึนามิเป็นแรงขับให้สร้างบล๊อกเตือนภัยขึ้นมา
"แต่ก่อนนี้ทำทวิตเตอร์เกี่ยวกับด้านดีๆ ของสังคม นำเสนอคนดีๆ เสนอเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาบ้าง เลยมาคิดว่าเราลองเสนอเรื่องที่ไม่ดีบ้างนั่นก็คือเรื่องของภัยพิบัติ ผมเสียใจมากเลย ผมเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มา แต่ใช้อะไร ช่วยอะไรสังคมไม่ได้ ไม่ได้มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือจากเหตุการณ์ต่างๆ มันเกิดเพราะใคร แต่กำลังมองว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง มีคนถามผมว่า ภัยพิบัติคือกรมอุตุเหรอ ผมบอก เปล่า...ไม่ใช่ ผมเป็นคนธรรมดา ผมไม่มีทีมงาน ถ้าอยากทำดีก็ทำได้เลย ไม่ต้องรอ ในขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์ก็ทำให้ผมก็ได้รับความรู้จากเพื่อนคนอื่นด้วยเช่นกัน" เขายืนยัน
แม้สิ่งที่ทำอยู่อาจไม่ได้รับผลตอบกลับเป็นเงินทอง แต่สิ่งที่อยู่เหนือกว่าคือ ความสุขใจที่ได้รับจากการทำตอบแทนสังคม
"การทำจิตอาสาอาจไม่ใช่เฉพาะการใช้แรงกาย หรือดร็อปเรียนเพื่อไปทำงานอาสา แต่มันเริ่มต้นที่ใจและความตั้งใจ เราก็จะรู้เองว่าต้องทำอะไร ทำความดีให้เหมือนทำงานอดิเรก" นายแพทย์ณัฐกุลทิ้งท้าย

No comments:

Post a Comment