Friday, October 21, 2011

วิจารณ์หนังสือ อัจฉริยะสร้างได้ (จริงหรือ)


วิจารณ์หนังสือ อัจฉริยะสร้างได้ (จริงหรือ)



อัจฉริยะสร้างได้ : เคล็ดลับพัฒนาอัจฉริยภาพ 8 ด้าน เพื่อก้าวสู่ความเป็นอัจฉริยะ
โดย วนิษา เรซ (Vanessa Race) หรือ หนูดี
สำนักพิมพ์ Red
พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2550
ISBN 978-974-8001-61-6
ปกอ่อน 179 หน้า ราคา 165 บาท



หนังสือเล่มนี้ผมอ่านจบนานแล้ว ว่าจะเขียนถึงหลายที แต่ก็ไม่มีเวลามานั่งเขียนดี ๆ เพราะติดสอบ
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบภายในไม่กี่ชั่วโมง ด้วยเป็นเพราะหนังสือเขียนให้อ่านง่าย ๆ ลักษณะการเขียนทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่ากำลังนั่งคุยสบาย ๆ อยู่กับผู้เขียน (คุณหนูดี) เนื้อหาในหนังสือกล่าวถึง ทฤษฎีพหุปัญญา หรือ Multiple Intelligences ที่เสนอโดย ศาสตราจารย์ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardnerรูป) ทฤษฎีพหุปัญญา นี้ได้หักล้างแนวคิดเก่า ๆ ที่ว่าความเป็นอัจฉริยะเป็นเรื่องของความฉลาดแต่เพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วความอัจฉริยะนั้นสามารถแสดงออกได้ในหลาย ๆ ด้าน ศาสตราจารย์โฮเวิร์ดได้เสนอแนวคิดนี้ในหนังสือ Frames of Mind (กรอบทางความคิด): 1983 อัจริยะภาพของมนุษย์อย่างน้อยแปดประการได้ถูกนำเสนอ อันประกอบไปด้วย
  1. ภาษาและการสื่อสาร (Linguistics Intelligence)
  2. ร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily-Kinesthetic Intelligence)
  3. มิติสัมพันธ์และการจินตภาพ (Spatial Intelligence)
  4. ตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
  5. การเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
  6. การเข้าใจผู้อื่นและมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
  7. การเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist Intelligence)
  8. ดนตรีและจังหวะ (Musical Intelligence)
คุณหนูดี ได้สรุปอัจริยะภาพแปดประการนั้น ด้วยภาษาที่อ่านง่าย ยกตัวอย่างให้เห็นถึงการแสดงออกถึงอัจฉริยะภาพในด้านต่าง ๆ และยกตัวอย่างบุคคลที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะภาพในด้านนั้น ๆ ได้อย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้คุณหนูดียังแทรกเสริม เทคนิคเคล็ดลับต่าง ๆ ที่ใ้ช้พัฒนาอัจฉริยะภาพได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการทำ Mind Maps, การพัฒนาทักษะการพูด ฟัง คิด อ่านและ เขียน รวมไปถึงการร้องเพลง เล่นกีฬา และเรืองอื่น ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และง่ายที่จะปฏิบัติตาม

ตอนท้ายของเล่ม เป็นประวัติของคุณหนูดี หรือ วริษา เรซ และข้อมูลเกี่ยวกับงานที่เธอทำอยู่

สิ่งที่ชอบมาก สำหรับหนังสือเล่มนี้ คือ อ่านแล้วมีกำลังใจ ทำให้รู้สึกว่า เราทำได้ เราสามารถที่จะพัฒนาความเป็นอัจฉริยะในทุกด้าน ๆ ของเราได้ เทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่หนังสือแนะนำดูง่ายและไม่ซับซ้อน คุณหนูดีได้ทำให้เห็นว่าการใส่ใจกับกิจกรรมประจำวัน เช่น การนั่งหลังตรง การหายใจ การเคี้ยวอาหาร การฝึกวาดวงกลม ล้วนแต่พัฒนาความอัจฉริยะของเราได้ ขอเพียงแต่ได้ ใส่ใจ และเริ่มทำทำอย่างตั้งใจจริง


ที่จะติสักนิด สำหรับหนังสือเล่มนี้คือ คุณหนูดีเขียนหนังสือได้เหมือนมานั่งเล่ามากไปหน่อย ทำให้ลดทอนความวิชาการของเนื้อหาไป ประวัติของคุณหนูดีเองดูเหมือนจะมากไปนิด อ่านแล้วแกมหมั่นไส้อยู่ในที คนอะไร จะฉลาดพัฒนาตัวเองจนมี พหุปัญญา ได้ขนาดนั้น

สิ่งที่อยากเห็น ผมอยากเห็นคุณหนูดีเขียนหนังสือหรือบทความที่มีความเป็นวิชาการมากขึ้น มีเนื้อหาที่อ่านง่าย แต่ไม่ต้องมีลักษณะของการอ่านที่นั่งฟังหนูดีพูด (ตัดประโยคที่อ้างอิงถึงตัวเอง และสรรพนามออก เช่น "หนูดีคิดว่า หนูดีอย่างนั้น หนูดีอย่างนี้") และเนื่องจากคุณหนูดีได้ทำโรงเรียนและจัดการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้จริงจังน่าจะมีการแสดงผลของผู้ที่นำเทคนิคต่าง ๆ ไปใช้ ว่าพวกเขาเหล่านั้นพัฒนาตนได้มากเพียงใด ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนเทคนิควิธีการที่เขียนอยู่ในหนังสือ และพิสูจน์ให้เห็นว่า อัจฉริยะ นั้นสร้างได้จริง



อย่างไรก็ดี อัจฉริยะสร้างได้ เป็นหนังสือที่ควรหาอ่าน และขอเก็บเป็นหนังสือขึ้นหิ้ง ของ จิต-ใจ-ดี อีกหนึ่งเล่มครับ



เขียนโดย

ภาสกร (pC)



ขอบคุณ

รูปปกหนังสือ จาก http://ldd.go.th/e_library
พี่แอน ลลนา ที่ส่งหนังสือดี ๆ มาให้อ่าน

เผยแพร่ครั้งแรก: http://jit-jai-d.blogspot.com
9 มค 52
นำมาเผยแพร่อีกครั้ง เพราะหล่อนกำลังดัง

No comments:

Post a Comment